มะเร็งปอด เกิดจากอะไร? ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นได้? รักษาได้ไหม?

297 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มะเร็งปอด เกิดจากอะไร? ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นได้? รักษาได้ไหม?

มะเร็งปอด หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย โดยส่วนมากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจะไม่ค่อยมีอาการในระยะเริ่มต้น แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

 

มะเร็งปอดเกิดจากอะไร

มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมากและแพร่กระจายไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย โดยมะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
  •  มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) : เซลล์เจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตรวดเร็ว ซึ่งพบได้ 10 – 15%
  •  มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) : แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัด หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ โดยมะเร็งชนิดนี้พบได้ประมาณ 85 – 90%

 

ค้นหาระยะของมะเร็งปอด

ระยะของมะเร็งปอดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง โดยกำหนดจากตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง เซลล์และการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะร่างกาย ซึ่งระยะของมะเร็งนั้นมีความสำคัญต่อการรักษา เพราะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษา และหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม


ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก มี 2 ระยะ

ระยะที่ 1 ระยะจำกัด (Limited Stage) พบเซลล์มะเร็งอยู่ในปอด 1 ข้าง และต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวเท่านั้น
ระยะที่ 2 ระยะลุกลาม (Extensive Stage) เซลล์มะเร็งกระจายออกนอกบริเวณช่องทรวงอกข้างนั้น หรือกระจายสู่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย


ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มี 4 ระยะ

ระยะที่ 1 เป็นระยะที่พบว่ามีก้อนบางอย่างอยู่ในปอด ในระยะแรกนี้ผู้ป่วยมักไม่มีการแสดงความผิดปกติออกมา
ระยะที่ 2 พบมะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด โดยในระยะที่ 1 และ 2 เป็นระยะที่สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดนำก้อนเนื้อออกจากร่างกาย
ระยะที่ 3 พบมะเร็งแพร่กระจายไปที่ปอดกลีบอื่นๆ หรือลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่กลางช่องอก หรือไกลออกไปจากช่องอกข้างนั้นๆ
ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งกระจายตัวไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ตับ กระดูก ต่อมหมวกไตและสมอง เป็นต้น



ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด



   การสูบบุหรี่ – ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด รวมถึงมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากถึง 10 เท่า ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
   ควันบุหรี่มือสอง – แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ แต่การได้รับควันบุหรี่มือสอง มือสาม จากกาสูดหายใจเข้าไปจะทำให้มีสารพิษตกค้างซึ่งก่อให้เกิดมะเร็ง
   การทำงานในอุตสาหกรรมที่มีสารก่อมะเร็ง – การสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม ไรแย่หิน แร่เรดอน นิกเกิล เป็นต้น
   สภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองพิษ – จากการศึกษาพบว่า ฝุ่น PM2.5 ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1 – 1.4 เท่า ซึ่งถือว่ามีความร้อยแรงเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่
   พันธุกรรม – แม้โรคมะเร็งปอดจะไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง แต่พบว่า หากมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดตั้งแต่อายุน้อยๆ สมาชิกในครอบครัวก็มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

 

โดยทั่วไปแล้ว มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้วมักมีอาการแสดง ที่สามารถสังเกตได้ดังนี้

 

  • ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด
  • หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
  • หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีด
  • เจ็บหน้าอกตลอดเวลา
  • เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน
  • ปอดติดเชื้อบ่อย
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

การรักษาโรคมะเร็งปอด

1. การผ่าตัด ใช้สำหรับรักษามะเร็งในระยะแรกที่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปไกล หรือมีการกระจายไปเฉพาะต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆ และไม่มีการลุกลามไปที่อวัยวะสำคัญต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เป็นทางเลือกที่พิจารณาก่อนการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้ผ็ป่วยหายขาดจากโรคได้ การผ่าตัดมี 4 แบบ

  • การตัดเป็นรูปลิ่ม (Wedge Resection) คือ การผ่าตัดเพื่อนำเอาก้อนมะเร็ง และเนื้อเยื่อรอบๆ ออก
  • การตัดกลีบปอด (Lobectomy) คือ การตัดกลีบปอดออกทั้งกลีบ
  • การตัดปอดทั้งข้าง (Pneumonectomy) คือการตัดปอดทั้งข้าง
  • การตัดปอดและส่วนของหลอดลมร่วมออกด้วย (Sleeve Resection) คือ การตัดปอดออกทั้งกลีบร่วมกับการตัดและต่อหลอดลมข้างเคียงของปอดนั้นด้วย โดยทั่วไปแพทย์จะผ่าตัดด้วยวิธี Lobectomy ร่วมกับการตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง แต่แพทย์อาจเลือกวิธีอื่นๆ ให้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนั้นอาจพิจารณาตัดอวัยวะข้างเคียงออกบางส่วนถ้ามีการลุกลามเฉพาะที่

 

2. การฉายรังสี เป็นการรักษาเฉพาะที่เช่นเดียวกับการผ่าตัด โดยมีข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยดังนี้

  • ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะแรกในรายที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ มีผลการรักษาใกล้เคียงกับการผ่าตัด
  • ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลามเฉพาะที่ (ใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด) เป็นการรักษาหลักเพื่อหวังผลหายขาด
    ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในระยะที่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองมากกว่าบริเวณใกล้เคียงทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้
  • ใช้เป็นการรักษาเสริมก่อน และ/หรือหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยระยะที่ 3 ที่มีข้อบ่งซื้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคเฉพาะที่
  • ใช้เป็นการรักษาแบบประคับประคองในรายที่เป็นระยะลุกลาม เช่น บรรเทาอาการปวดกระดูก บรรเทาการกดทับเส้นเลือด หรือเส้นประสาทที่สำคัญบรรเทาอาการ ในกรณีที่มะเร็งมีการกระจายไปยังสมอง เป็นต้น
  • ใช้เป็นการรักษาเพื่อป้องกันการกระจาย เช่น การฉายรังสีที่ศีรษะ เพื่อป้องกันมะเร็งกระจายมาที่สมอง

 

3. การให้ยาเคมีบำบัด เป็นการให้ยาที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งโดยการฉีด หรือผสมสารละลายหยุดเข้าทางหลอดเลือด ตัวยาจะผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดและเข้าสู่เซลล์มะเร็งทางเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งนั้น ข้อดีคือยาเคมีบำบัดสามารถเข้าไปทุกส่วนทั่วร่างกาย ภายในระยะเวลาใกล้เคียงกันแต่จะมีข้อเสียในเรื่องผลข้างเคียงจากยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผมร่วง เป็นแผลที่เยื่อบุในปาก ท้องร่วง ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง ทำให้อาจติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงกว่าปกติเป็นต้น โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดในกรณีต่อไปนี้

  • ให้ภายหลังการผ่าตัด ในกรณีที่ผลการผ่าตัดพบว่าเป็นในระยะที่ 2 (ระยะที่ 1 ในบางกรณี)
  • ให้ร่วมกับการฉายแสง เพื่อรักษามะเร็งระยะลุกลามเฉพาะที่
  • ให้เพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งให้เล็กลง ก่อนพิจารณาการรักษาอื่นๆ ต่อในมะเร็งระยะที่ 3
  • ให้เพื่อรักษาประคับประคองโรคระยะลุกลาม หรือกำเริบ
    ทั้งนี้ แพทย์ผู้ดูแลจะประเมินความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายรวมทั้งความเหมาะสมในการให้การรักษาด้วยยาเคมีในผู้ป่วยแต่ละรายก่อนเสมอ

 

4.การรักษาโดยให้ยามุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) เป็นการรักษามะเร็งที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ตัวมะเร็งเป็นหลัก แต่มีผลต่อเซลล์ปกติเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ต้องมีการตรวจการกลายพันธุ์ของยีนก่อน ถ้ามีผิดปกติจึงจะใช้ยาในกลุ่มนี้ได้ เช่น การตรวจ EGFR mutation, ALK Fusion เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้โดยมากเป็นยาในรูปแบบรับประทาน มีผลข้างเคียงน้อยและมีประสิทธิภาพดีกว่ายาเคมีบำบัด

5. การรักษาโดยใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการรักษามะเร็งแนวใหม่ล่าสุด โดยใช้ยาไปกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายให้มาทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีผลข้างเคียงน้อย เป็นยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ อาจใช้เพียงลำพังหรือให้ร่วมกับยาตัวอื่นๆ เช่น ยาเคมีบำบัด เป็นต้น โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการใช้ยาของผู้ป่วยแต่ละราย

แหล่งที่มา
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้